
สำนักกฎหมายและวิชาการศาลยุติธรรม
สำนักกฎหมายและวิชาการศาลยุติธรรมแจ้งว่า ประธานศาลฎีกาได้ลงนามคำแนะนำของประธานศาลฎีกา เกี่ยวกับการพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลย พ.ศ. ๒๕๖๒ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา ๑๗๒ ทวิ (๔) และ (๕) เพิ่มเติมมาตรา ๑๗๒ ทวิ/๑
และมาตรา ๑๗๒ ทวิ/๒ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๓๓) พ.ศ. ๒๕๖๒ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
๑. กำหนดปัจจัยที่ศาลควรพิจารณาก่อนมีคำสั่งให้มีการพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลย
๒. การมีทนายความของจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๗๒ ทวิ(๑) (๔) และมาตรา ๑๗๒ ทวิ/๑
หมายถึงการที่จำเลยได้แต่งตั้งทนายความไว้ในการต่อสู้คดี
๓. กำหนดลักษณะของเหตุที่เป็น “เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๑๗๒ ทวิ (๔)
๔. ในกรณีที่มีการอนุญาตให้พิจารณาและสืบพยานลับหลังครั้งหนึ่งแล้วยังไม่แล้วเสร็จ ให้ศาลพิจารณาว่าในวันนัดที่เลื่อนไปยังคงปรากฏเหตุตามกฎหมายที่จำต้องพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลยอยู่อีกหรือไม่
๕. การจับตัวจำเลยไม่ได้ภายในกำหนดสามเดือน ไม่ถือเป็นเหตุบังคับว่าศาลต้องพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลยทุกกรณี
๖. ในกรณีที่ศาลออกหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๒ ทวิ/๑ และมาตรา ๑๗๒ ทวิ /๒
ศาลพึงกำกับติดตามให้มีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการติดตามจับกุม และให้มีการรายงานผลการติดตาม
จับกุมต่อศาลเป็นระยะ
ส่วนพัฒนากฎหมาย
สำนักกฎหมายและวิชาการศาลยุติธรรม
สำนักงานศาลยุติธรรม